มด (Ant)

 

มด (ant) เป็นแมลงที่พบเห็นบ่อยที่สุดในบ้านเรือน มักก่อความรำคาญ ปนเปื้อนในอาหาร เข้าไปทำรังในปลั๊กและสวิตซ์ไฟ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร การกัดหรือต่อยทำให้เกิดอาการ คัน ปวด บวม เป็นแผล การป้องกันกำจัดมดต้องอาศัยความเข้าใจพฤติกรรมและชีววิทยาของมดชนิดเป็นปัญหา

 

มด (ant) เป็นแมลงสังคมอยู่ในอันดับ Hymenoptera ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับ ผึ้ง (bee) ต่อ (wasp) แตน (hornet) มดจัดอยู่ในวงศ์ Formicidae ในโลกมีมดประมาณกว่า 12,000 ชนิด ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น

 

ในรังมดประกอบด้วยมด 3 วรรณะ คือ มดเพศผู้ (male) มดราชินี (queen) และมดงาน (worker) มดที่พบเห็นทั่วไปส่วนใหญ่เป็นมดงานซึ่งเป็นมดเพศเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก จะมีกรามที่เห็นได้ชัดเจน อาจมีเหล็กในหรือไม่มีก็ได้แล้วแต่ชนิด

 

 

มดราชินี (queen) และมดเพศผู้ (male) จะบินออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์ โดยบินออกจากรังพร้อมกันในปริมาณมากๆ และจับคู่ผสมพันธุ์ขณะบิน หลังจากผสมพันธุ์แล้ว มดราชินีจะบินลงสู่พื้นสลัดปีกทิ้งและหาที่ที่เหมาะสมสร้างรังใหม่ต่อไป

 

มด (ant) สร้างรังบนพื้นดิน บนต้นไม้ ในบ้าน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งน้ำหวาน เห็ดรา ไปจนถึงเนื้อสัตว์ ปกติมด (ant) จะกินอาหารบางส่วนและคาบกลับรัง มดงาน (worker) จะแบ่งอาหารที่อยู่ในกระเพาะให้สมาชิกตัวอื่นโดยการป้อนอาหารทางปาก หรือเรียกว่าการแลกเปลี่ยนอาหาร (trophallaxis)

 

 

 

 

trophallaxis

 

มดทั่วไปที่พบในเคหสถานมีอยู่ประมาณ 10 ชนิด ได้แก่

  • มดฟาโรห์ หรือมดละเอียด (Pharaoh ant : Monomorium pharaonis)
  • มดละเอียดท้องดำ (Singapore ant :Monomorium destructor)
  • มดเหม็น หรือมดผี (Ghost ant : Tapinoma melanocephalum)
  • มดคันไฟ (Tropical fire ant :Solenopsis geminata)
  • มดดำ (Crazy ant : Paratrechina longicornis)
  • มดคลั่งสีน้ำผึ้ง (Yellow crazy ant : Anoplolepis gracilipes)
  • มดง่ามทุ่ง (Asian Army Ant : Pheidologeton diversus)
  • มดตะนอยอกส้ม (Arboreal Bicolored Ant : Tetraponera rufoniga)
  • มดช่างไม้ (Carpenter ants : Camponotus arrogans)
  • มดแดง (Weaver ant : Oecophylla smaragdina)

 

 

 

การป้องกันกำจัดมด

การป้องกันกำจัดมดทำได้หลายวิธี เช่น การกั้นมด การวางเหยื่อพิษล่อมด และการกำจัดมด เป็นต้น

 

การกั้นมด คือการกั้นมดไม่ให้เข้าในพื้นที่ที่เราไม่ต้องการให้มดขึ้น เช่น การใช้ที่รองขาโต๊ะ สารที่ใช้กั้นอาจใช้น้ำเปล่า น้ำสมสายชู น้ำมันเครื่อง แป้งฝุ่น แล้วแต่ความเหมาะสม

อุดรอยแตก รอยแยก ช่องโหว่ของอาคารบ้านเรือน

ใช้สารไล่มดโรยตามทางกั้นมดเข้าบ้าน หรือใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำ 1:1 ส่วน ฉีดพ่นตามขอบประตูหน้าต่าง กั้นไม่ให้มดเข้าบ้าน

 

การวางเหยื่อพิษล่อมด ใช้เหยื่อผสมกรดบอริก (boric acid) สูตรผสม น้ำเชื่อมผสมกรดบอริก 2-3 % เป็นเหยื่อชนิดเหลว วางเหยื่อโดยเทใส่ภาชนะทรงแบนราบ ทิ้งไว้ให้มดมากิน หรือใช้ขนมปังชุบให้ชุ่มแล้ววางให้มดกิน อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ แต่จะเห็นผลในระยะยาว คือจะทำให้มดตายยกรัง

ข้อควรระวัง ไม่ควรผสมกรดบอริกเข้มข้นเกินไปเพราะจะทำให้มดตายในที่เกิดเหตุ

 

การกำจัดมดโดยใช้สารเคมี เลือกชนิดที่หาง่ายในบ้านเรือน เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำส้มสายชู หยอดลงไปตามช่องที่มดเดิน เข้า-ออก จะสามารถฆ่ามดพวกนี้ได้       

วัตถุอันตรายเกือบทั้งหมดเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroids) หรือวัตถุอันตรายที่มีฤทธิ์ตกค้างในกลุ่ม Organophosphate และ Carbamate สารประเภทนี้ออกฤทธิ์โดยยับยั้งกระบวนการเผาผลาญอาหาร (metabolic inhibitor) ทำให้แมลงอ่อนเพลีย เซื่องซึม ไม่กินอาหาร