ปลวก (Termite)

 

ปลวก (termite) เป็นแมลงในอันดับ Blattodea มหาวงศ์ Termitoidae มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับแมลงสาบ (cockroach) และตั๊กแตนตำข้าว (mantis) ปลวก (termite) จัดเป็นแมลงสังคมแท้ (eusocial insects) คือมีการช่วยกันเลี้ยงดูตัวอ่อน มีการแบ่งวรรณะและมีหลายรุ่นอยู่รวมภายในรังเดียวกัน รังปลวก (termite nests) อาจปรากฏเห็นได้ชัดเจน เช่น จอมปลวกบนดิน รังขนาดเล็กบนต้นไม้ หรือมองไม่เห็น เช่น ปลวกใต้ดิน โดยมีรังขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน

 

ปลวก (termite) มีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis) ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ (egg) ระยะตัวอ่อน (nymph) และระยะตัวเต็มวัย (adult)

 

ปลวก (termite) มีการแบ่งชั้นวรรณะ โดยมีรูปร่างและหน้าที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งได้ 3 วรรณะ คือ

 

วรรณะสืบพันธุ์ (termite reproduction) หรือแมลงเม่า (alates) คือตัวเต็มวัยที่มีปีก จะบินออกจากรังในวันและเวลาที่เหมาะสมเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ และสร้างใหม่ กลายเป็นราชินี (queen) และราชาปลวก (king) ราชาปลวกจะมีรูปร่างไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อยู่เป็นคู่กับราชินีจนหมดอายุขัย (อาจนานกว่า 25 ปี) ส่วนราชินีปลวกหรือนางพญาปลวก ส่วนท้องจะขยายใหญ่ขึ้นอาจยาวได้มากถึง 5 นิ้ว หรือ 127 มม. ทำหน้าที่วางไข่และควบคุมสมาชิกภายในรังโดยใช้ฟีโรโมน ถ้าในรังมีประชากรมาก จะมีวรรณะสืบพันธุ์สำรอง (secondary queen ) ไว้ทำหน้าที่แทนราชินี

 

 

วรรณะกรรมกร (worker) หรือปลวกงาน เป็นวรรณะที่พบมากที่สุดในรัง ปลวกงานไม่มีปีก ไม่มีตารวม และกรามจะมีขนาดเล็ก ทำหน้าที่ทุกอย่างในรังและนอกรัง โดยหาอาหาร เพาะเลี้ยงเห็ดรา ป้อนอาหารให้สมาชิกในรัง ซ่อมแซมและขยายรัง

 

 

วรรณะทหาร (soldier) หรือปลวกทหาร หัวจะใหญ่และแข็งกว่าปลวกวรรณะอื่น มีหน้าที่ในการป้องกันประชากรในวรรณะอื่น ๆ จากศัตรูที่เข้ามาทำร้าย โดยทั่วไปเป็นพวกที่มีขนาดใหญ่กว่าปลวกวรรณะอื่น ๆ มีหัวโตสีน้ำตาล กรามใหญ่ ยาวและแข็งแรง ใช้ในการต่อสู้กับศัตรู ปลวกบางชนิดไม่มีกราม แต่จะมีตุ่มหรือท่ออยู่ที่ส่วนหัวซึ่งจะเป็นทางออกของสารเคมีซึ่งเป็นสารเหนียว ๆ เพื่อใช้ต่อสู้กับศัตรูแทน กรามใหญ่และแข็งแรงทำหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับศัตรูที่มารบกวนรัง

 

 

 

 

ปลวก (termite) สามารถแบ่งตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้ 2 ประเภท ได้แก่

  • ปลวกชั้นต่ำ ส่วนใหญ่ปลวกชนิดที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร อาศัย protozoa ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารช่วยในการผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร ในประเทศไทยพบทั้งหมด 3 วงศ์ คือ Kalotermitidae, Termopsidae และ Rhinotermitidae
  • ปลวกชั้นสูง ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินดิน ซากอินทรียวัตถุ ไลเคน รวมทั้งพวกที่กินเศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้เป็นอาหาร จะมีวิวัฒนาการที่สูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพนิเวศวิทยาที่แห้งแล้งหรือขาดอาหารได้ดี อาศัยจุลินทรีย์จำพวก bacteria หรือ เชื้อราภายในระบบทางเดินอาหาร ผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยสลายอาหารให้กับปลวก ซึ่ง bacteria บางชนิดจะมีความสามารถในการจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างกรดอะมิโนที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ และบางชนิดมีความสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวได้ยากในสภาพแวดล้อม ในประเทศไทยพบปลวกชั้นสูงอยู่ในวงศ์ Termitidae

 

ปลวก (termite) สามารถแบ่งตามประเภทของอาหาร และอุปนิสัยในการสร้างรัง ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • ปลวกกินไม้ พบทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน ชนิดที่สร้างรังขนาดเล็กอยู่บนดินหรือบนต้นไม้ จัดเป็นปลวกใต้ดิน และบางชนิดอาศัยอยู่และกินภายในเนื้อไม้ เรียกว่าปลวกไม้แห้ง หรือปลวกไม้เปียก
  • ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อรา จะกินทั้งเนื้อไม้ เศษไม้ ใบไม้ และเชื้อราที่เพาะเลี้ยงไว้ในรัง พบทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และรังขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่บนดิน
  • ปลวกกินดิน และอินทรียวัตถุ พบได้ทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และสร้างรังขนาดเล็กอยู่บนพื้นดิน
  • ปลวกกินไลเคน ส่าวนใหญ่สร้างรังบนดินบริเวณโคนต้นไม้

 

ชนิดปลวกที่สําคัญที่เข้ามาทําลายไม้ใช้สอย

  • ปลวกไม้แห้ง ที่สําคัญ คือ Cryptotermes thailandis สวนใหญ่จะพบเข้าทําความเสียหายรุนแรงต่ออาคารบานเรือนที่อยู่บริเวณชายฝั่ง ทะเลหรือพื้นที่เกาะ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ
  • ปลวกใต้ดิน ที่สําคัญ คือ Coptotermes gestroi และ Coptotermes havilandi นอกจากนี้แล้วปลวก Odontotermes proformosanus และปลวกในสกุล Schedorthinotermes, Ancistrotermes และ Microtermes อาจพบเข้าทําความเสียหาย ต่อไม้ใช้ประโยชน์ภายนอกอาคารหรืออาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตชนบท

 

ในประเทศไทยได้มีการสำรวจชนิดปลวกไว้ 199 ชนิด มีเพียง 13 ชนิดเท่านั้นที่พบเข้าทำลายไม่ในเคหสถาน ที่เป็นปัญหาและสำคัญที่สุดคือ ปลวกใต้ดินแห่งภาคพื้นเอเชีย (Coptotermes gestroi) เข้าทำลายอาคารบ้านเรือนทั่วประเทศไทยในเขตเมืองถึงร้อยละ 90 และยังเข้าทำลายอาคารบ้านเรือนในชนบทอีกกว่าร้อยละ 20 รองลงมาคือปลวกสร้างรังขนาดเล็กชนิด Microcerotermes crassus เข้าทำลายบ้านเรือนในชนบทอีกกว่าร้อยละ 40 สำหรับปลวกที่เหลืออีก 11 ชนิดจัดว่ามีความสำคัญน้อยในเรื่องทำความเสียหายให้อาคารบ้านเรือน

 

การป้องกันและกำจัดปลวก

  • การป้องกันโดยไม่ใช้สารเคมี
  • การใช้แผ่นโลหะ โลหะผิวลื่น เช่น แผ่นอลูมิเนียม สามารถใช้เป็นแนวป้องกันไว้รอบๆ เสาหรือรอยต่อระหว่างฐานล่างกับส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ เพื่อกั้นเส้นทางเดินของปลวกจากพื้นดินเข้าสู่อาคาร
  • การใช้วัสดุอื่นๆ เช่น เศษหินบท เศษแก้วบด หรือแผ่นตะแกรงโลหะ ปูรองพื้นอาคารในส่วนที่ติดพื้นดิน ทั้งหมด

 

การป้องกันและกำจัดโดยใช้เหยื่อพิษ

  • ใช้สารเคมีออกฤทธิ์ช้า ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ ซึ่งมีประสิทธิภาพ ในการขัดขวางกระบวนการตามธรรมชาติในการดำรงชีวิตของปลวก เช่น ยับยั้งขบวนการสร้างผนังลำตัว ซึ่งมีผลต่อการลดจำนนประชากรลงไปจนถึงระดับที่ไม่ก่อให้เกิด ความเสียหาย มีคุณสมบัติพิเศษที่ดึงดูดให้ปลวกเข้ามากิน และสามารถคงรูปอยู่ภายในตัวปลวกได้ดีในระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะเกิดการถ่ายทอดไปสู่สมาชิกอื่นๆภายในรังได้

 

การป้องกันโดยการใช้สารเคมี

  • การใช้สารกำจักปลวก เป็นการป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่น หรืออัดสารป้องกันกำจัดปลวกลงไปในพื้นดินเพื่อทำให้ภายไต้อาคารเป็นพิษปลวกไม่สามรถเจาะผ่านทะลุขึ้นมาได้ หรืออาจใช้สารเคมีกำจัดปลวก โรยและฉีดพ่นโดยตรง วิธีการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันปลวกก่อนการปลูกสร้างอาคารสามารถให้ผลในการป้องกันปลวกใต้ดินได้ดีที่สุด ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้กำจัดปลวก กลุ่ม Pyrethroid เช่น Bifenthrin, Permethrin, Alphacypermethrin, Cypermethrin และกลุ่มอื่นๆ เช่น Chlopyrifos-ethyl, Imidacloprid, Fipronil
  • การใช้สารป้องกันเนื้อไม้ ดำเนินการโดยการพ่น ทา แช่ จุ่ม หรือ อัด โดยใช้กำลังอัดเพื่อให้สารเคมีแทรกซึมเข้าไปในเนื้อไม้