ยุง (mosquito) เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยปกติ ตัวเมียมักจะกินเลือดเป็นอาหาร ส่วนตัวผู้มักจะกินน้ำหวานในดอกไม้ ยุง (mosquito) ยังเป็นแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย เป็นต้น ยุง (mosquito) ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 3,450 ชนิด แต่พบในประเทศไทยประมาณ 412 ชนิด แต่ที่คุ้นเคยกันดี คือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) และยุงลาย (Aedes)
เมื่อดูดเลือดเหยื่อ ยุง (mosquito) จะปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนบางอย่างออกมาด้วย และน้ำลายของยุงยังอยู่ในรอยเจาะ เป็นตัวการทำให้ผิวหนังหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) ออกมา ฮิสตามีนจะกระตุ้นเส้นใยประสาทให้ส่งสัญญาณไปที่สมองแล้วทำให้เกิดอาการคัน และโปรตีนในน้ำลายของยุงยังไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอีกด้วย ทำให้บริเวณที่โดนกัด (weal) จะเกิดการบวมแดง แม้ว่าในที่สุดแล้วการบวมจะหายไป แต่อาการคันยังคงอยู่จนกว่าภูมิคุ้มกันจะทำให้โปรตีนนั้นสลายไป
วงจรชีวิตของยุง แบ่งเป็น 4 ระยะ
- ระยะไข่ ยุงตัวเมียผสมพันธุ์แล้ว จะวางไข่ในแหล่งน้ำ
ยุงก้นปล่อง : น้ำสะอาด ไหลริน
ยุงลาย, ยุงดำ, และยุงรำคาญ : ในน้ำนิ่ง น้ำขัง น้ำสะอาดและไม่สะอาด จะฟักเป็นตัวอ่อน (ลูกน้ำ) เมื่อไข่มีอายุ 2-3 วัน
- ระยะตัวอ่อน หรือลูกน้ำ จะอยู่ในน้ำ เจริญเติบโตหากินในน้ำนาน 5-10 วัน จะลอกคราบเป็นดักแด้หรือตัวโม่ง
ยุงชนิดอื่น : ลูกน้ำจะลอยตัวทำมุม 45-90 องศา กับผิวน้ำ
ยุงก้นปล่อง: จะลอยขนานกับผิวน้ำ
- ระยะดักแด้ หรือตัวโม่ง จะหยุดกินอาหารและพัฒนาร่างกาย ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย
- ระยะตัวเต็มวัย หรือตัวยุง จะมีปีก หลังจากลอกคราบออกจากดักแด้จะขึ้นสู่ผิวน้ำ และเกาะอยู่ที่ผิวน้ำชั่วครู่ หลังจากปีกแห้งและแข็งแรงแล้ว จะบินออกไปหาอาหาร จับคู่ ผสมพันธุ์ และวางไข่เพื่อแพร่พันธุ์ต่อไป
ยุงลาย (Aedes sp.)
ยุงลายเป็นแมลงจำพวกหนึ่ง ในประเทศไทยมียุงลายมากกว่า 100 ชนิด แต่ที่เป็นพาหะ นำโรคไข้เลือดออกมีอยู่ 2 ชนิด คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะหลัก และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะรอง ในวงจรชีวิตของยุงลายประกอบด้วยระยะต่างๆ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อน (ลูกน้ำ) ระยะดักแด้หรือตัวกลางวัย (ตัวโม่ง) และ ระยะตัวเต็มวัย (ตัวยุง) ทั้ง 4 ระยะมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างลักษณะและการดำรงชีวิต
ขาของยุงลายมีสีดำสลับขาวเป็นปล้องๆ ที่ขาหลังบริเวณปลายปล้องสุดท้ายมีสีขาวตลอด บนเส้นปีก ลักษณะของเกล็ดแคบและยาว บนขอบหลังของปีกมีเกล็ดเล็กๆเป็นชายครุย มีเกล็ดสีดำที่ระยางค์ปาก ด้านหลังของส่วนอกมีแถบสีขาวพาดอยู่ตรงกลางลูกน้ำ บริเวณปล้องที่แปดมีเกล็ดอยู่หนึ่งแถวประมาณ 8-12 อัน ส่วนปลายของเกล็ดที่บริเวณขอบไม่แยกเป็นแฉก ส่วนอกไม่มีหนามแหลม
ยุงก้นปล่อง (Anopheles sp.)
ยุงก้นปล่อง เป็นยุงที่สังเกตได้คือ เวลาเกาะหรือกำลังดูดเลือด ลำตัวจะทำมุมกับพื้นยึดเกาะ 45 องศา อกด้านหลังมี ขอบด้านท้ายสุดโค้งเรียบ ไม่หยักเป็นพูสามพู ยุงก้นปล่องเป็นยุงนำโรคไข้ป่า หรือโรคไข้มาเลเรีย อาศัยได้หลายที่ เช่น บ้าน ในป่า และภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบไข่ในน้ำไหลริน ในแอ่งน้ำสะอาด ยุ่งนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่
ยุงก้นปล่องบางสปีชีส์สามารถเป็นพาหะของพยาธิหัวใจสุนัข Dirofilaria immitis สปีชีส์ที่ก่อโรคเท้าช้าง Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ยุงก้นปล่องอาจส่งผ่านไวรัสหรือตัวการอื่นซึ่งสามารถก่อเนื้องอกสมองได้
ยุงรำคาญ (Culex sp.)
ยุงรำคาญหรือยุงธรรมดา ตัวไม่โต ลำตัวมีสีเทา ขาและปีกไม่ลาย ชอบอยู่รอบๆ บ้าน และในบ้าน กัดคนไม่เลือกเวลา ยุงรำคาญเป็นพาหะโรคไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง
ยุงรำคาญที่พบมากที่สุดมี 4 ชนิด ปกติจะอยู่ตามท่อระบายน้ำ น้ำเน่าขัง โดยเฉพาะช่วงน้ำเน่าที่มีขยะด้วยยุงชนิดนี้ยิ่งชอบ การกำจัดขยะจะทำให้ยุงชนิดนี้ลดจำนวนลงได้ ในประเทศไทยพบระบาดและถือว่าสร้างปัญหาเป็นอย่างมากในช่วงน้ำท่วม
ยุงเสือ (Mansonia ssp.)
ยุงเสือจะมีปีกแตกต่างจากยุงกลุ่มอื่น คือ เส้นปีกจะมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้ม เกล็ดที่ปกคลุมปีกมีขนาดใหญ่และค่อนข้างกลม สีดำสลับสีขาว ขาลายเป็นปล้องๆ บริเวณขามีสีแบบตกกระ มีแถบขาวล้อมรอบ ตรงส่วนปลายของท้องมีลักษณะเป็น 3 พู แต่ละพูมีขนยาว 1 กระจุก
เวลาหากิน ยุงลายเสือกัดกินเลือดของสัตว์และคน ชอบออกหากินเวลากลางคืน ตัวแก่มักจะกินเลือดสัตว์มากกว่าคน กัดกินเลือดนอกบ้าน โดยเฉพาะตามทุ่ง หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีพืชน้ำขึ้น มักกัดเวลาพลบค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือบางครั้งกัดตอนกลางวันถ้ามีเหยื่อเข้าไปใกล้บริเวณเกาะพัก
เมื่อยุงลายเสือกัดคนที่มีเชื้อไมโครฟิลาเรีย และดูดเลือดที่มีพยาธินี้เข้าไป ไมโครฟิลาเรียจะเข้าไปเจริญอยู่ในตัวยุงนานประมาณ 7-14 วัน จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาและจะเคลื่อนที่เข้าสู่ปากยุง เมื่อยุงมากัดคน ตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะไชผ่านผิวหนังบริเวณแผลที่ยุงกัด และเข้าไปเจริญและเพิ่มจำนวนในคน ซึ่งต่อมาจะก่อให้เกิดโรคเท้าช้างขึ้น
เมื่อยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างระยะติดต่อกัดคน เชื้อจะเคลื่อนตัวออกจากส่วนปากของยุงมาที่บริเวณผิวหนัง ไชเข้าสู่ผิวหนังตรงรอยยุงกัด และเข้าไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในต่อมน้ำเหลือง มีระยะฟักตัว 3-9 เดือน จากนั้นพยาธิตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์กัน และออกลูกเป็นตัวอ่อนเรียกว่าไมโครฟิลาเรียซึ่งจะออกมาอยู่ในกระแสเลือด เมื่อยุงมากัดก็จะรับเชื้อตัวอ่อนเข้าไปและเจริญเป็นพยาธิระยะติดต่อภายใน 1-2 สัปดาห์
ยุงลาย |
ยุงก้นปล่อง |
ยุงรำคาญ |
ยุงเสือ |
|
แหล่งเพาะพันธุ์ |
น้ำสะอาดบริเวณบ้าน |
น้ำสะอาดไหลช้าๆ ตามป่า ชายเขา โพรงไม้ นาข้าว |
แหล่งน้ำขังบนดิน ท่อระบายน้ำ น้ำครำ น้ำสกปรก |
บึงน้ำที่มีพืชน้ำ เช่น จอก แหน แพงพวย |
เวลาออกหาอาหาร และสถานที่ที่ยุงกัด |
กลางวันในบ้าน ใกล้บ้าน |
กลางคืน นอกบ้าน |
พลบค่ำถึงเช้ามืด โดยมากนอกบ้าน |
กลางคืน นอกบ้าน |
พาหะโรคที่สำคัญ |
ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคฟิลาเรีย |
โรคมาลาเรีย โรคฟิลาเรีย |
ไข้สมองอักเสบ โรคพยาธิหัวใจสุนัข โรคฟิลาเรีย |
โรคฟิลาเรีย (โรคเท้าช้าง) |
การป้องกันกำจัด
การป้องกันยุงกัดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง การติดตั้งมุ้งลวด การสุมควันไฟไล่ยุง การจุดยากันยุง และการทาสารเคมีไล่ยุง เช่น น้ำมันตะไคร้หอม หรือสารสังเคราะห์ เช่น DEET (diethyltoluamide)
การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัด ลดปริมาณยุงตัวเต็มวัย โดยใช้ แอคเทลิค 50 อีซี ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงทางสาธารณสุข (พิริมิฟอส เมททิล) เดลการ์ด 100 ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง (เดลต้าเมททริน 1%) ควบคุมและกำจัดยุงพาหะโดยพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่างๆ กำจัดวัชพืชและพืชน้ำที่เป็นแหล่งเกาะอาศัยของลูกน้ำในแหล่งน้ำ