มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryzaephilus surinamensis Linnaeus

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Silvanidae

 

วงจรชีวิต : มอดฟันเลื่อยมีการเจริญเติบโตทั้งหมด 4 ระคือระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้ ระยะตัวเต็มวัย นับว่าเป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 14 วัน ลอกคราบ 2-5 ครั้ง ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 6-10 วัน วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 24-30 วัน ตัวเต็มวัยอาจอยู่ได้นาน 6-10 เดือน

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่มีสีขาวรียาว ตัวอ่อน (หนอน) หัวกะโหลกแข็ง ส่วนอกมีขาจริง 3 คู่ ลำตัวเรียวเล็กสีขาวนวล ด้านสันหลังสีเข้มกว่าด้านท้อง ดักแด้มีลักษณะเด่นคือ ด้านข้างของส่วนอกมีรยางค์เล็กๆ ยื่นออกมาข้างละ 6 เส้น เข้าดักแด้โดยใช้เศษอาหารเป็นปลอกหุ้มตัว ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวแบนยาว ขอบด้านข้างของอกปล้องแรกมีรอยหยักยื่นอออกมาข้างละ 6 ซีก ลักษณะคล้ายฟันเลื่อย

 

ลักษณะการทำลาย : มอดฟันเลื่อยตัวเมียจะวางไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มปะปนลงในอาหารหรือตามรอยแตกของเมล็ด พบเข้าทำลายต่อจากแมลงชนิดอื่นหรือเมล็ดที่มีรอดแตกอยู่ก่อนแล้ว ไม่สามารถทำลายเมล็ดพืชให้ได้รับความเสียหายเองได้ ตัวเต็มวัยจะแทะเล็มอยู่ที่ผิวเมล็ดชอบกัดกินตรงส่วนที่จะงอกของเมล็ด (germ) สามารถกัดกินเมล็ดธัญพืชหรือธัญพืชแปรสภาพที่แตกหักได้ มอดฟันเลื่อย

 

ความสำคัญ : มอดฟันเลื่อยเป็นแมลงศัตรูสำคัญของข้าวสาร และธัญพืชที่ผ่านขบวนการ เช่น ข้าวมอลท์ ขนมปังกรอบ มักกะโรนี เส้นหมี่ พบแพร่กระจายทั่วโลก ในประเทศไทยพบแพร่กระจายทุกจังหวัด ในพื้นที่ที่มีโรงสีข้าวและยุ้งข้าว ระบาดกระจัดกระจายทั้งปี พบมากในตอนปลายปี หรือก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยพืชอาหารได้แก่ เมล็ดธัญพืชทุกชนิด ข้าวสาร มะม่วงหิมพานต์ ถั่ว แป้ง เครื่องเทศ อาหารสัตว์ ยาสูบ เนื้อแห้ง และผลไม้แห้ง