แมลงวัน (Fly)

 

แมลงวัน (fly) อยู่ในอันดับ Diptara อยู่ในอันดับเดียวกับ ยุง (mosquito) ริ้น (midges) เหลือบ (gadfly) แมลงหวี่ (common fruit fly) เป็นแมลงศัตรูสำคัญอีกชนิดหนึ่งของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง แมลงวันมีปากแบบซับดูด (sponging type) กินอาหารที่เป็นของเหลวได้เท่านั้น ถ้าอาหารเป็นของแข็งจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร ก่อนใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำซับดูดของเหลวนั้น แมลงวัน (fly) สามารถก่อความรำคาญ เป็นพาหะนำโรคหลายชนิดที่ติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยง แมลงวันที่พบเกี่ยวข้องกับคนมาก ในประเทศไทยมี 3 ชนิด ได้แก่

 

  • แมลงวันบ้าน (House fly)
  • แมลงวันหัวเขียว (Blow fly)
  • แมลงวันหลังลาย (Flesh fly)

 

 

แมลงวันบ้าน (House fly)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Musca domestica อยู่ในวงศ์ Muscidae มีขนาดประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ลำตัวสีดำเทา มีแถบดำ 4 เส้น พาดตามยาวด้านหลังของส่วนอก ทั่วลำตัวมีขนขนาดเล็กสีเทาดำจำนวนมาก เพศผู้มีตาชิดกันมากกว่าเพศเมีย ก่อความรำคาญ พบเห็นได้บ่อยที่สุดในบ้านและร้านอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน ได้แก่ อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ซากสัตว์ อุจจาระของคนและสัตว์ ขยะจากบ้านเรือน ร้านอาหาร ที่พักและโรงแรม แมลงวันบ้านส่วนใหญ่หากินห่างจากแหล่งเพาะพันธุ์ ในรัศมีประมาณ 500 เมตร แต่อาจบินได้ในระยะ 1-5 กิโลเมตร

 

แมลงวันบ้าน (house fly) เพศเมียตลอดอายุขัยวางไข่ประมาณ 500 ฟอง บนอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ซากเน่า กองขยะ และอุจจาระ วางไข่เป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 75-120 ฟอง วางไข่ 5-6 ครั้ง ตลอดอายุขัย วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 10-12 วัน

 

เมื่อแมลงวันตอมอาหาร เรามีโอกาสที่จะได้รับเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งติดมาตามขา ปาก และลำตัวของแมลงวันบ้าน อย่างไรก็ดีปริมาณเชื้อโรคที่ติดมานั้น มักไม่มากพอที่จะทำให้เกิดโรค ยกเว้นโรคบิดที่เกิดจากเชื้อแบคที่เรีย Shigella เชื้อโรคส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเพิ่มปริมาณในอาหารที่แมลงวันลงเกาะให้ถึงระดับมากพอที่จะทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นเราจึงควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่กินอาหารที่ตั้งทิ้งไว้โดยไม่มีที่ปิดหรือฝาชีครอบ

 

มีการศึกษาวิจัย พบเชื้อโรคที่ติดมากับแมลงวันบ้าน 65 ชนิด ที่สามรถก่อให้เกิดโรคได้ เช่น โรคไข้รากสาด อหิวาตกโรค โรคบิด ท้องร่วง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ วัณโรค โรคแอนแทร็กซ์ ตาอักเสบ พยาธิ  โปลิโอ โรคเรื้อน โรคตับอักเสบชนิดเอและบี

 

 

แมลงวันหัวเขียว (Blow fly)

 

เป็นแมลงวันขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปตามชุมชนที่มีสิ่งปฏิกูลต่างๆ เป็นแมลงวันที่มีส่วนท้องและอกเป็นสีเขียวหรือสีเขียวแกมน้ำเงินถึงดำ มีลักษณะสีสดใส สะท้อนแสงแวววาว ส่วนหัวจะไม่เป็นสีเขียวมีตารวมขนาดใหญ่สีแดงหรือสีน้ำตาล ลำตัวมีลักษณะค่อนข้างกลม ความยาว 6-14 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยชอบอาศัยตามบริเวณบ้าน กองขยะ รวมทั้งซากเน่าเปื่อย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ พบได้มากในประเทศไทย มีลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้าน แต่พบน้อยกว่าแมลงวันบ้านหลายเท่าตัว ชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ Chrysomya megacephala

 

แมลงวันหัวเขียว (blow fly) เพศเมียเริ่มวางไข่เมื่ออายุได้ 7 วัน วางไข่ประมาณ 220 ฟอง จากไข่ฟักเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 12 วัน ตัวเต็มวัยอยู่ได้ประมาณ 30-50 วัน

 

 

แมลงวันหลังลาย (Flesh fly)

 

แมลงวันหลังลาย (flesh fly) อยู่ในวงศ์ Sarcophagidae เป็นแมลงวันที่พบกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่มีความหนาแน่นต่ำ มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ใหญ่กว่าแมลงวันบ้านและแมลงวันหัวเขียว ลำตัวมีสีเทาเข้มหรือสีเทาอ่อน สาเหตุที่เรียกแมลงวันหลังลาย เนื่องจากปล้องด้านบนมีลายคล้ายตารางหมากรุก ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยคือ Sarcophaga ruficornis แมลงวันหลังลายเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะ myiasis คือภาวะแผลที่มีหนอนแมลงวันในร่างกายของคนและสัตว์

 

การควบคุม และกำจัดแมลงวัน

 

ควบคุมโดยวิธีกล เป็นการกำจัดแมลงวันในระยะต่างๆด้วยแรงคนหรือเครื่องมือการจับ เช่น การเก็บหนอน การใช้สวิงจับ การใช้กรงหรือมุ้งตาข่าย การใช้กล่องดักจับ และการใช้ไม้ตีแมลงเป็นต้น

 

การกำจัดโดยชีววิธี

 

  • ตัวห้ำ (Predators) ที่ชอบจับกินแมลงวัน ทั้งตัวเต็มวัย และระยะตัวหนอนหรือดักแด้ ได้แก่ แมงมุม จิ้งจก คางคก และนก เป็นต้น
  • ตัวเบียน (Parasitoids) ที่ชอบวางไข่เป็นพาหะในร่างกายแมลงวันหรือในตัวหนอนแล้วทำให้ตายได้ เช่น แตนเบียน และด้วงก้นกระดก
  • ใช้จุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อราไมโครไรซา เป็นต้น

 

ใช้กับดัก เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเกาะตามวัสดุที่ห้อยแขวนในแนวดิ่ง เช่น ใช้เชือกหรือวัสดุที่เป็นเส้น ยาวประมาณ 1-2 เมตร ทาหรือชุบน้ำตาลผสมสารเคมี เช่น ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl)

 

การใช้เหยื่อพิษ วิธีนี้ใช้เหยื่อหรืออาหารที่แมลงวันชอบผสมสารกำจัดแมลง เช่น เศษอาหาร ผลไม้เน่า เนื้อเน่า ผสมกับสารเคมีในข้างต้นที่กล่าวมา

 

การฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพรเพื่อกำจัดตัวอ่อนของแมลงวันในระยะต่างๆ เช่น สารสกัดจากส้มป่อย รากหนอนตายหยาก เป็นต้น

 

ใช้สารเคมี

 

  • การใช้เครื่องพ่นควัน โดยใช้สารเคมีกลุ่ม Organophosphorus หรือ Carbamate ได้แก่ Diazinon, Diflubenzuron, Cyromazine เป็นต้น
  • การฉีดพ่นสารเคมี ได้แก่ ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl) เป็นต้น